fbpx

โดย พุทธณี กางกั้น บน Thairath Online

อาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวโรฮีนจาและนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจัดกิจกรรมครบรอบ 5 ปีเหตุการณ์โจมตีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาโดยกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 โศกนาฏกรรมอันโหดร้ายดำเนินมาครึ่งทศวรรษ โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ เราจึงขอชวนผู้อ่านไปทำความเข้าใจวิกฤติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจา และกระบวนการทวงคืนความยุติธรรม ตลอดจนตั้งคำถามว่า ไทยจะมีส่วนร่วมปกป้องคุ้มครองชาวโรฮีนจา และเพื่อนบ้านชาวพม่าที่กำลังเผชิญอาชญากรรมจากรัฐบาลเผด็จการได้อย่างไรบ้าง 

ชาติพันธุ์ที่ถูกทำลายล้าง

นับตั้งแต่รัฐบาลทหารพม่าออกกฎหมายสัญชาติ เมื่อปี 2525 (Burma Citizenship Law 1982) ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์โรฮีนจาก็ค่อยๆ ถูกลิดรอนสิทธิพลเมือง ทำให้เข้าถึงสิทธิในสัญชาติได้อย่างยากลำบาก และสุดท้ายกลายเป็นคนไร้รัฐ (stateless) ไม่ถูกนับรวมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของพม่า ทั้งๆ ที่เป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมในรัฐยะไข่ 

นโยบายกีดกันชนกลุ่มน้อยมุสลิมออกจากคนพม่าซึ่งนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ไม่เพียงเป็นการลบล้างอัตลักษณ์และความเป็นมนุษย์ของชาวโรฮีนจา แต่ยังส่งผลให้พวกเขาถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการเดินทาง การแต่งงาน การมีบุตร หรือการเข้าถึงการศึกษาของรัฐ เป็นต้น 

กองทัพพม่าโดยความร่วมมือของชาวพุทธในรัฐยะไข่ ดำเนินการประหัตประหารชาวโรฮีนจาครั้งสำคัญในปี 2555 และอีกครั้งระหว่างปี 2559-2560 โดยการกวาดล้างที่เกิดขึ้นได้คร่าชีวิตผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กไปกว่าพันคน เป็นที่มาของการอพยพครั้งใหญ่ของชาวโรฮีนจาไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ จนปัจจุบัน ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) ของบังกลาเทศ รองรับชาวโรฮีนจาพลัดถิ่นกว่า 1 ล้านชีวิต และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 

นิยาม ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ได้บันทึกหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กองทัพพม่ากระทำต่อชาวโรฮีนจา ผ่านการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต การสืบสวนในหลายประเทศ และการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ รายงานหลายชิ้นบ่งชี้ว่า มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ากองทัพพม่าได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮีนจาจริง 

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและการลงโทษอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปี 2491 (Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide: CPPCG) กำหนดความหมายของ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ไว้ว่าเป็น “การกระทำใดๆ ดังต่อไปนี้ ซึ่งกระทำโดยเจตนาที่จะทำลายกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา ทั้งหมดหรือบางส่วน” รวมทั้งการสังหารสมาชิกของกลุ่ม ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายหรือจิตใจต่อสมาชิกของกลุ่ม หรือจงใจทำลายสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่ม โดยมุ่งเป้าเพื่อทำลายล้างทางกายภาพทั้งหมดหรือบางส่วน ปัจจุบันมีประเทศที่ลงนามรับรองเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฯ ทั้งหมด 152 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีพม่ารวมอยู่ด้วย

‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ นับเป็นหนึ่งในอาชญากรรมร้ายแรง หรืออาจเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด ทำให้รัฐบาลทั่วโลกและองค์กรสิทธิมนุษยชนเพิ่มความระแวดระวังอย่างมาก หากต้องนิยามการสังหารหมู่ของรัฐบาล หรือองค์กรทางการเมืองใดว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 แอนโธนี บลิงเคน (Anthony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า การประหัตประหารชาวโรฮีนจาของกองทัพพม่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ถ้อยแถลงดังกล่าวนับเป็นหมุดหมายสำคัญ ซึ่งตอกย้ำต่อประชาคมโลกให้หันมาสนใจและเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการตอบสนองต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา

ทวงคืนความยุติธรรม ณ ศาลระหว่างประเทศ

กรณีการประหัตประหารชาวโรฮีนจาโดยกองทัพพม่า ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระดับโลกในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยหนึ่งคดีถูกส่งไปที่ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ซึ่งเป็นศาลระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้ธรรมนูญกรุงโรมฯ (Rome Statute) เพื่อพิจารณาคดีความผิดอาญาระหว่างประเทศ 4 ฐาน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน 

วันที่ 6 กันยายน 2561 ศาลอาญาระหว่างประเทศอนุญาตให้หัวหน้าอัยการทำการสืบสวนข้อมูล และหาความเป็นไปได้ในการฟ้องร้องคดีต่อบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในการบังคับขับไล่ (forced deportation) ชาวโรฮีนจาไปยังบังกลาเทศ รวมทั้งดำเนินคดีต่อการกระทำอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรม

นอกเหนือจากการฟ้องร้องคดีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) หรือที่เรียกว่า ‘ศาลโลก’ เองก็กำลังพิจารณาอาชญากรรมต่อชาวโรฮีนจาในพม่าเช่นกัน 

แกมเบีย ประเทศเล็กๆ ทางฝั่งตะวันตกของแอฟริกา เป็นหัวหอกสำคัญในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้แก่ชาวโรฮีนจา เดือนพฤศจิกายน 2562 รัฐบาลแกมเบียฟ้องคดีต่อประเทศพม่าที่ศาลโลก ในข้อหาละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศมุ่งไปที่การนำผู้กระทำการละเมิดมาให้รับผิดชอบ ต่ออาชญากรรมร้ายแรง คดีที่นำเข้าสู่ศาลโลกจะมุ่งไปที่ความรับผิดชอบของรัฐ แม้ว่ารัฐบาลทหารพม่าได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไม่รับพิจารณา แต่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ศาลโลกมีมติปัดตกข้อโต้แย้งของรัฐบาลพม่า และอนุญาตให้ดำเนินคดีต่อไป 

บทบาทไทยในวิกฤติสิทธิมนุษยชนพม่า

ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านและมีเส้นกั้นพรมแดนแนบขนาบกับพม่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากพม่า รวมทั้งชาวโรฮีนจา ถือว่าไทยเป็นสวรรค์ที่พวกเขาจะสามารถเดินทางเข้ามาเพื่อหลบภัย หากแต่กลับเป็นโชคร้าย เพราะไทยไม่มีมาตรการคุ้มครอง หรือมอบสถานะทางกฎหมายให้พวกเขา ทำให้ผู้ลี้ภัยตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงอย่างมากต่อการกลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการปฏิบัติมิชอบอย่างอื่น โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาซึ่งได้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์มาแล้ว 

ในปี 2558 ทางการไทยตรวจพบค่ายกักกันเหยื่อการค้ามนุษย์รวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา และหลุมศพขนาดใหญ่หลายแห่งใกล้กับพรมแดนประเทศมาเลเซีย การค้นพบครั้งนี้นำไปสู่ การพิจารณาคดีการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ของประเทศ และต่อมา ศาลพิพากษาจำเลย 76 คนว่ามีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ต่อชาวโรฮีนจา 

แม้การพิจารณาจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ยังไม่มีการพิสูจน์อัตลักษณ์ของศพอีกเป็นจำนวนมากในหลุมศพเหล่านี้ ทางการไทยควรพยายามทุกวิถีทางในการพิสูจน์อัตลักษณ์เหยื่อเหล่านี้ และให้การเยียวยาต่อครอบครัวของพวกเขา รวมถึงเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบต่อผู้ลี้ภัย ทางการไทยไม่ควรรีรอในการออกกลไกเพื่อให้การยอมรับ ให้สถานะทางกฎหมาย และคุ้มครองพวกเขาจากการถูกรีดไถ จับกุม และบังคับส่งกลับโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 

การเดินทางกลับบ้านเกิดในพม่าของผู้ลี้ภัย รวมทั้งชาวโรฮีนจา อย่างปลอดภัย มีศักดิ์ศรี และเป็นไปโดยสมัครใจ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาไม่ต้องถูกโจมตีทำร้าย หรือถูกประหัตประหาร และมีการคืนสิทธิให้กับพวกเขา ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรสนับสนุนความพยายามต่างๆ เพื่อผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น 

แม้จะมีหลักฐานมากมายที่ยืนยันถึงการก่ออาชญากรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพพม่า แต่ที่ผ่านมาทางการไทยยังคงเกรงใจที่จะวิจารณ์รัฐบาลทหาร ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไทยควรถือว่ารัฐบาลทหารพม่าก่ออาชญากรรมและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงควรระงับความสัมพันธ์กับผู้นำทหารพม่าในทุกระดับ รัฐบาลไทยควรหันมาสนับสนุนและร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ของพม่า ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนที่ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของพม่า  

ไทยยังควรสนับสนุนความพยายามต่อการไต่สวนเพื่อเอาผิดต่อกองทัพพม่า ฐานที่ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ และให้มีการคืนสิทธิทั้งปวงแก่ผู้ที่ถูกละเมิดโดยรัฐอีกด้วย  

ท้ายที่สุด ในฟากของประชาชน เราควรศึกษาทำความเข้าใจการประหัตประหารและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจา และส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเสนอข้างต้น และให้การสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขาตามกำลัง เพื่อให้ชาวโรฮีนจาสามารถผ่านพ้นวิกฤติ ได้มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและคุณค่าตามที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี

Stay Updated!


Subscribe to our mailing to receive periodic updates on human rights issues where we work.