fbpx

โดย พุทธณี กางกั้น บน Thairath Online

ศิลปะและการละเมิดสิทธิมนุษยชนดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ การตกเป็นเหยื่อ การปฏิบัติมิชอบหรือการใช้ชีวิตภายใต้ข้อจำกัด จะกลายเป็นสิ่งสวยงามและถูกนำเสนออย่างมีศิลปะได้อย่างไร? 

เพราะการละเมิดนำมาซึ่งความทุกข์ยาก ความสิ้นหวัง ความทุกข์ใจ และความแตกแยก ในขณะที่ศิลปะสื่อถึงความงาม ความหมาย และความสร้างสรรค์ 

เราจะสามารถนำเสนอเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทารุณผ่านงานศิลปะได้อย่างไร และการทำเช่นนี้จะเพิ่มคุณค่าให้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างไรบ้าง  

ปลายปี 2565 The Fort ในกรุงเทพฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ‘ศิลปะ ความหวัง และสิทธิมนุษยชนในเมียนมา’ ของ Fortify Rights องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ในงานนี้ เราได้ฟังความเห็นจากเอกอัครราชทูต ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากหลายประเทศ พูดถึงการเชื่อมโยงโลกศิลปะเข้ากับสิทธิมนุษยชน

แทมส์ ลู ผู้เชี่ยวชาญด้านมัลติมีเดีย Fortify Rights พูดถึงศิลปะและสิทธิมนุษยชนในวงเสวนาสตรีล้วน แทมส์เล่าถึงการนำศิลปะมาใช้การสื่อสารประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ผลงานแอนิเมชันอาจช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัย ช่วยทำให้ประเด็นที่ซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้น และช่วยขยายประเด็นสำคัญไปสู่สังคมได้อย่างกว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ ศิลปินยังสามารถใช้งานแอนิเมชันเป็นสื่อเพื่อปกปิดอัตลักษณ์ของเหยื่อ ช่วยอธิบายปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อน และกรุยแนวทางการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิได้ 

อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของงานนี้ดังกล่าว คือการเปิดตัวหนังสือภาพ A Chance to Breathe โดยช่างภาพหนุ่มสาวชาวโรฮีนจา 3 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ หนังสือที่มีความยาว 270 หน้านี้เล่มนี้ รวบรวมรูปภาพและบทกวีของ โอมัล แคร์, ดิล กายาส และอาซีมุล ฮัสซัน และจัดพิมพ์โดย FotoEvidence, Fortify Rights และ Doha Debates 

ศิลปินโรฮีนจาทั้งสามคนเป็นผู้เข้าร่วมโครงการฝึกฝนนักทำสื่อ (Media Fellow) ของ Fortify Rights และ Doha Debates นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ทั้งสององค์กรให้การสนับสนุนศิลปินด้วยโทรศัพท์มือถือ และจัดอบรมเรื่องการใช้อินสตาแกรม เพื่อให้พวกเขาสามารถบอกเล่ามุมมองต่อวิถีชีวิตประจำวันในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ภายนอกได้รับรู้ด้วยตนเอง

โครงการเล็กๆ แต่ทรงพลังนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของศิลปินโรฮีนจา ผลงานภาพถ่ายของพวกเขาได้รับการยกย่องในเวทีระดับสากล ในปี 2564 ศิลปินทั้งสามคน ร่วมด้วย Fortify Rights และ Doha Debates ได้รับรางวัล Shorty Award 

ในหนังสือภาพเล่มนี้ คุณจะได้สัมผัสกับความสุข ความหวัง ความบันเทิงใจ ความทุกข์ ความหม่นหมอง ความเศร้า และความรู้สึกอื่นๆ อีกมากมาย ที่ถ่ายทอดผ่านผลงานของศิลปินทั้งสามคน หนังสือเล่มนี้ยังมีการจัดวางรูปเล่มและออกแบบอย่างสวยงามโดย FotoEvidence ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความเป็นอยู่อันหลากหลายของผู้ลี้ภัยที่บอกเล่าโดยผู้ลี้ภัยเอง  

เราอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพสื่อความหมายได้มากกว่าคำพูดนับพัน” ภาพถ่ายภาพหนึ่งในหนังสือเล่มนี้เป็นภาพวัวที่กำลังถูกเชือดในเทศกาลอีดิลอัฎฮา ภาพนี้ปลุกเร้าความรู้สึกของผู้อ่าน นำมาสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง 

ภาพอีกชุดเป็นภาพเปลวเพลิงขนาดใหญ่ลุกไหม้ที่พักพิงผู้ลี้ภัยหลายพันหลัง ใกล้ๆ กันมีรั้วลวดหนามที่ทางการบังกลาเทศติดตั้งเอาไว้ เป็นอุปสรรคกีดขวางไม่ให้ผู้คนหลบหนีจากเปลวเพลิง ส่วนอีกภาพหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เป็นภาพแหล่งพักพิงที่สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยผืนผ้าใบ ที่มีการพิมพ์ชื่อของผู้บริจาคที่บอกว่ามาจากที่ใด ในภาพนี้พิมพ์เป็นภาษาตุรกี  

ฉันชอบหนังสือเล่มนี้ และรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้เห็นภาพถ่ายอันทรงพลังของช่างภาพทั้งสามคน ทั้งยังได้เชื่อมโยงกับชีวิตของตนเองกับพวกเขา บางครั้งก็ลืมไปว่าคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายๆ ประการ ไม่มีแม้แต่เสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถคิดฝันโครงการใหญ่โต และนั่นก็เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิด้านการศึกษา อีกทั้งพวกเขายังไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้นำของตนเอง  

ผู้เขียนทั้งสามคนเป็นผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาอีกเกือบล้านคนในเมืองคอกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าไทยถึง 3 เท่า แต่มีประชากรมากกว่าถึง 2.5 เท่า พวกเขาทั้งสามคนไม่อาจรู้ได้ว่าจะมีประเทศใดยอมรับพวกเขาเป็นพลเมืองหรือไม่ และถึงแม้ว่าผู้ลี้ภัยโรฮีนจาส่วนใหญ่ต้องการกลับไปบ้านเกิดของตนเองในเมียนมา แต่โชคร้ายที่การเดินทางกลับบ้านต้องถูกชะลอออกไป เพราะเหตุโจมตีของรัฐบาลทหารที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

ในงานเปิดตัวหนังสือภาพเล่มนี้ที่กรุงเทพฯ ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ได้บอกเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งตนเองได้ไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในบังกลาเทศและเมียนมา เขาเล่าเรื่องราวระหว่างตนไปเยือนค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ที่เมืองซิตตเว รัฐยะไข่ ที่ซึ่งมีชาวโรฮีนจาราว 150,000 คน อาศัยอยู่ในสภาพที่เลวร้ายอย่างยิ่งมาตั้งแต่ปี 2555 

ทอมกล่าวว่า “ผมจำได้ว่าชายคนหนึ่งบอกกับผมว่า ถ้าคุณช่วยพวกเราไม่ได้ หรือถ้าพวกคุณไม่ต้องการช่วยพวกเรา ก็ระเบิดค่ายนี้ทิ้งไปเสีย เพราะจะดีเสียกว่าถ้าผมจะตายไปพร้อมกับครอบครัว แทนที่จะต้องใช้ชีวิตในสภาพเช่นนี้ต่อไป” เขาพูดพลางนึกถึงสภาพของพื้นที่โดยรอบที่เลวร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ ในแต่ละวันชาวโรฮีนจาในเมียนมาต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว ไม่ต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศ  

เราอยากชวนให้คุณหยิบหนังสือ A Chance to Breathe เล่มนี้มาลองเปิดอ่าน มันจะช่วยสื่อสารเรื่องราวกับผู้คนอีกจำนวนมาก และอาจมอบความหวังรวมถึงแสงสว่างแก่ศิลปินทั้งสามคน ตลอดจนผู้ลี้ภัยโรฮีนจาคนอื่นๆ ด้วย 

ดิล กายาส บอกว่า ตอนนี้เธอสามารถถ่ายภาพในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศได้โดยไม่รู้สึกหวาดกลัวอีกต่อไป แล้วยังสามารถนำภาพเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้โลกได้รับรู้อีกด้วย เธอสะท้อนถึงสถานการณ์ในบ้านเกิด “ถ้าชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ได้รับอิสรภาพ สามารถอัปโหลดภาพถ่ายและเผยแพร่ผลงานให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ ชีวิตของพวกเขาคงจะดีกว่านี้มาก” เธอกล่าว 

อาซีมุล ฮัสซัน บอกว่า หนังสือภาพเล่มนี้ทำให้เขา “มีความสุขมาก เพราะหนังสือสามารถเรียกความสนใจจากคนอื่นๆ ได้” โอมัล แคร์ กล่าวเสริมว่า “ในอนาคต ฉันอยากเดินทางไปในหลายประเทศ และหวังว่าถ้าคุณได้เห็นหนังสือภาพและภาพถ่ายเหล่านี้ คุณจะได้รับรู้ว่าชีวิตประจำวันและความทุกข์ยากของชาวโรฮีนจาเป็นอย่างไร”  

สามารถซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ FotoEvidence หรือ Amazon โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปมอบให้ชุมชนชาวโรฮีนจาในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ นอกจากนี้ คุณสามารถกดติดตามศิลปินชาวโรฮีนจาทั้งสามคนได้ทางอินสตาแกรม: @omal_khair, @dilkayas, and @azimulhass 

Stay Updated!


Subscribe to our mailing to receive periodic updates on human rights issues where we work.